รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล บรรเทาค่าครองชีพประชาชนไปอีก 2 เดือน

                    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ทางคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ขยายกรอบเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ต่อเนื่อง 2 เดือน มีผลเริ่ม 21 พฤษภาคม-20 กรกฎาคม 2565 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19) ซึ่งเคยลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูง
                    ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขับเคลื่อน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถบรรทุกขนส่งและรถโดยสาร คิดเป็น ร้อยละ 65 ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด 
                    รัฐบาลจึงเร่งหามาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมัน โดยมีนโยบายดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพประชาชน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการอุดหนุน รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว 3 เดือนตั้งแต่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 และการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรักษาระดับค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร นอกจากนั้นได้มีการปรับส่วนผสมไบโอดีเซลเพื่อลดต้นทุนเนื้อน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ใช้เงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลมาจนถึงปัจจุบันประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท 
                    แนวทางการบริหารราคาน้ำมันดีเซลในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน 2565  รัฐจึงจะช่วยสนับสนุนการตรึงราคาครึ่งหนึ่ง (50%) นอกจากนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถของผู้ที่มีกำลังจ่ายสูง เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และนำเงินในส่วนนี้ไปชดเชยให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็น
                    ทั้งนี้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตนอกจากช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนแล้ว แต่ยังแบ่งเบาภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากขึ้น ซึ่งกองทุนฯมีภาระดูแลดีเซลเกือบ 10 บาทต่อลิตร มาตรการดังกล่าวจึงเป็นเพียงมาตรการทางภาษีระยะสั้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่งในทุกอุตสาหกรรม ที่ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน และในระยะยาวอาจก่ออุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ 
                    ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ครอบคลุมกว่า 40 ล้านคน ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ใช้วงเงิน ในการดำเนินการ 80,247 ล้านบาท เป็นเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท กองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท งบประมาณ 3,740 ล้านบาท และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท การตรึงราคาน้ำมันที่ต่อเนื่องและยังมีทีท่าว่าจะยาวนาน อาจส่งผลต่อสถานะการเงินและสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ติดลบอยู่ที่ 72,062 ล้านบาท 
                    และเนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามหลักผู้ก่อมลภาวะจึงต้องมีกรมสรรพสามิตทำหน้าที่จัดเก็บภาษีจากสินค้าและบริการเฉพาะอย่างจากผู้ผลิตสินค้า เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาลนำไปบริหารประเทศ และทำนุบำรุงท้องถิ่นต่างๆ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะทำให้รายได้ภาครัฐหายไปเดือนละ 1,900 ล้านบาท หากลด 3 บาทเหมือนที่ผ่านมา ส่งผลให้หายไปเดือนละ 5,700 ล้านบาท ดังนั้นการลดภาษีจึงพิจารณาใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น
                    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความจำเป็นต่อเนื่องในการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการอย่างทั่วหน้า ขณะเดียวกันการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคประชาสังคมควบคู่กันไปด้วย โดยใช้กองทุนน้ำมันที่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ รวมแล้วทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นไป ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ต้องปรับราคาตาม ต้นทุนภาคขนส่ง โดยมีอีกหลายมาตรการที่ยังหารือร่วมกัน

ฉัตรชัย พวงขจร /ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar