กรมชลประทาน ร่วมกับชาวสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เดินหน้าโครงการสะเอียบโมเดล เร่งสำรวจ ออกแบบอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า แก้ไขภัยแล้งและน้ำท่วม

           วันที่ 26 เมษายน 2567 ที่โครงการชลประทานแพร่ ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ นายพิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตาม “โครงการสะเอียบโมเดล” จังหวัดแพร่ ซึ่งได้มีการศึกษาสำรวจออกแบบ ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อนำเสนอของบประมาณในการดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2569 และ 2570 เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม
             โครงการสะเอียบโมเดล เป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ที่กรมชลประทานได้รับการร้องขอจากประชาชนมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน โครงการสะเอียบโมเดล ประกอบด้วยโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 มีความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 19.67 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า มีความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 2.35 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกรวมทั้ง 2 โครงการ ประมาณ 10,250 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจและออกแบบรายละเอียดของโครงการ จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2567 และจะขอตั้งงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างในปี 2569 สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และปี 2570 สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า 
            ทั้งนี้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และระบบส่งน้ำ ไม่กระทบต่อบ้านเรือนราษฎร แต่กระทบกับพื้นที่ทำกินในอ่างเก็บน้ำจำนวน 30 ไร่ และแนวท่อผ่านพื้นที่ทำกินประมาณ 49.9 ไร่ ส่วนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า และระบบส่งน้ำ ไม่กระทบต่อบ้านเรือนราษฎร กระทบกับพื้นที่ทำกินในอ่างเก็บน้ำจำนวน 9 ไร่ และแนวท่อจะวางไปตามเขตทางถนนจึงไม่กระทบกับพื้นที่ทำกิน โดยพื้นที่ทำกินที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จะได้การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินทั้งกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 พร้อมทั้งการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง จะต้องปฎิบัติตามรายงานแผนปฎิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่กรมชลประทานได้จัดทำรายงานดังกล่าวและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว 
             ด้านนายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 2 กล่าวว่า แม้ตำเเหน่งที่จะสร้างเขื่อนจะไม่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน เเต่ก็อยู่ใกล้ ทางกรมชลประทานจึงทำการออกเเบบเขื่อนโดยพิจารณาขนาดเเผ่นดินไหว ควบคู่กับการออกแบบทั้ง 2 แห่ง โดยได้ออกเเบบตามมาตรฐานการออกเเบบเเผ่นดินไหว ทั้งของกรมชลประทาน เเละ มาตรฐานระดับโลก
             เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้มีการส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร สามารถเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นมีพื้นที่ชลประทาน 7,940 ไร่ และพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า 2,310 ไร่ รวมทั้งมีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและโรงงานกลั่นสุราชุมชน 1.05 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 147,383 ลูกบาศก์เมตร/ปี พร้อมกับช่วยพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยมเฉพาะฤดูแล้ง 6,700 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลสะเอียบ และ รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ โดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม 
             นายอัสนี จารุชาต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่สอง อ่างเก็บน้ำแม่คำปอง อ่างเก็บน้ำแม่ถาง อ่างเก็บน้ำแม่สาย และอ่างเก็บน้ำแม่มาน มีความจุอ่างรวมทั้งหมด 132.43 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ตอนนี้สามารถเก็บน้ำได้ 64.289 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48.54 % ของความจุอ่างรวมทั้งหมด ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 71 แห่ง เก็บน้ำได้ประมาณ 27.69 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 52.43% ของความจุอ่างรวมทั้งหมด 
            และจังหวัดแพร่ มีความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ ทั้งหมดประมาณ 1,027.32 ล้าน ลูกบาศก์เมตร/ปี แต่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 186.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเก็บน้ำได้เพียงร้อยละ 10.43 ของปริมาณน้ำท่าเท่านั้น ในช่วงฤดูฝนแต่ละปี จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลำน้ำสาขา ทำให้จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำยม และ น้ำจากลำน้ำสาขาที่ไหลมารวมกัน ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนของราษฎรอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอสอง อำเภอสูงเม่น และอำเภอเด่นชัย ขณะที่ในฤดูแล้ง แม่น้ำและลำห้วยต่างๆ มีปริมาณน้ำลดลง บางแห่งไม่มีน้ำไหล ทำให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร พื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้ง คือ อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง และอำเภอลอง หากมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาเพิ่มมากขึ้น เช่น โครงการสะเอียบโมเดล จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งอุทกภัยที่จะเกิดในพื้นที่ได้
             ส่วนในอนาคต กรมชลประทานมีแผนพัฒนาโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง (พ.ศ. 2566-2570) จำนวน 15 โครงการ มีความจุรวมประมาณ 190.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อไปใช้ในฤดูแล้งมากขึ้น และลดปัญหาอุทกภัยอีกทางหนึ่ง

            พร้อมกันนี้คณะยังได้ลงพื้นที่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ดูพื้นที่การเกษตร และแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคของประชาชนชาวตำบลสะเอียบอีกด้วย /.

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

 


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar