จังหวัดแพร่พบผู้ป่วย ฝีดาษวานร รายแรก ขณะนี้รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในห้องแยกโรค

                เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแพร่ว่า พบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร จำนวน 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 47 ปี เข้ารับการตรวจรักษาครั้งแรก ที่โรงพยาบาลร้องกวางเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ด้วยอาการตุ่มแดงที่หน้าอกซ้าย ลามมาที่รักแร้สะบักซ้าย วันที่ 24 ตุลาคม 2566 อาการไม่ทุเลา มีผื่นแดง ตุ่มหนอง มีติ่งเนื้อที่ทวารหนัก และมีอาการปวด จึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแพร่ หลังจากได้รับรายงาน ทางงานระบาดวิทยากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ร่วมกับโรงพยาบาลแพร่ ดำเนินการสอบสวนโรค และเก็บตัวอย่างจากแผลผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันว่าพบเชื้อฝีดาษวานร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เบื้องต้นทางโรงพยาบาลแพร่ได้รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในห้องแยกโรค และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข 
                สำหรับโรคฝีดาษวานร เป็นเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นเชื้อตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมาก่อน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยการสัมผัสที่ตุ่มหนอง บาดแผลโดยตรง สารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอจาม การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละออง ทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิตกับผู้ป่วย และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มชายรักชาย ระยะฟักตัวหลังจากได้รับเชื้อจะเริ่มมี อาการภายในเวลา 5-21 วัน อาการของโรคจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นที่หน้า แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มากกว่าที่ตัว สามารถพบได้ในเยื่อบุต่างๆ เช่น ในช่องปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศ และทวารหนัก ลักษณะเป็นผื่นแบน จากนั้นค่อยนูนเป็นตุ่มน้ำใส หรือเป็นตุ่มหนอง
               
ารป้องกันโรคฝีดาษวานร มีดังนี้  1. ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือผู้ที่มีอาการสงสัยป่วย เป็นโรคฝีดาษวานร 2. ไม่สัมผัสผู้อื่นที่มีตุ่มหนอง 3. ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น 4. ล้างมือบ่อยๆ 
               
หากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สัมผัสผิวหนังที่มีผื่น/ตุ่ม หนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้อื่น และมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิก ในครอบครัว ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่รับประทานอาหารและดื่มน้ำด้วยภาชนะร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาช่วงที่ป่วย ทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนอน เครื่องใช้ ใช้ห้องน้ำแยกกับผู้อื่น หรือทำความสะอาดด้วยการเช็ดน้ำยาทำลายเชื้อกลุ่มสารซักฟอก เช่น ไฮโปคลอไรด์ น้ำสบู่ เป็นต้น 
                อย่างไรก็ตาม อย่าได้ตื่นตระหนก เนื่องจากโอกาสติดเชื้อนั้นค่อนข้างยาก และผู้ป่วยอยู่ในระบบการรักษาในห้องแยกโรค และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ โทร.054-511145 ต่อ 207


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar