ความคืบหน้า เงิน 10,000 บาท หรือ Digital Wallet คาดเปิดลงทะเบียนไตรมาส 3 เริ่มใช้ ไตรมาส 4 ของปี 2567

            สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ด้วยคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (กระทรวงการคลัง) เสนอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับ ความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ 
            เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ , ให้กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ เงื่อนไขเกี่ยวกับร้านค้าและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ , ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม เป็นต้น , คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบการตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ 
           
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีดังนี้ ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 
           
เงื่อนไขการใช้จ่าย 1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด 2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า 3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนดเพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ 4. ใช้จ่ายผ่าน Super App โดยระบบการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและร้านค้าเป็นระบบเปิด ที่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทุกรายการใช้จ่ายตามเงื่อนไข และมีระบบตรวจสอบธุรกรรม 5. ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการ ใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป 
           
สำหรับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ได้แก่ 1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท 2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธ.ก.ส.) จำนวน ประมาณ 172,300 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท 
           
โดยจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายใน ไตรมาสที่ 3 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยรอบแรก (ประชาชนกับร้านค้า) ต้องใช้ภายใน 6 เดือน และรอบสอง (ร้านกับร้านค้า) ยังไม่มีกำหนด แต่ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน ปี 2569 

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

 


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar