สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ สืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ประจำปี 2567

              สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยพระครูภาวนา เจติยานุกิจ รักษาการเจ้าอาวาสวัดถิ่นนอก ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ ได้ประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญตามแบบประเพณี แก่นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางณัชชา มีจันทร์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดแพร่ โดยมีนางอัมราพร มุ้งทอง ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ข้าราชการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ร่วมพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตอันเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทย
             
สำหรับ พิธีบายศรีสู่ขวัญ บางครั้งก็เรียกว่า พิธีบายศรี , พิธีสู่ขวัญ , พิธีทำขวัญ , พิธีรับขวัญ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทย ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนทุกแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติและไม่ประมาท ประเพณีบายศรีสู่ขวัญใช้เครื่องเชิญขวัญที่เรียกว่า บายศรี ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอดขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญ หรือไข่ต้ม เสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายประเภท เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ (ภาษาเขมร บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ) มีการพันสายสิญจน์ไว้โดยรอบ เพื่อใช้ผูกข้อมือผู้รับขวัญ ผู้นำทำพิธีเรียกว่า หมอขวัญ 

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สุวัฒน์ คำหม่อม / ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

 


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar