จังหวัดแพร่ ขอความร่วมมือ รณรงค์ “นุ่งผ้าเมือง อู้กำเมือง ดำหัวแบบคนเมือง” ส่งเสริมและแสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองแพร่

                วันที่ 24 มกราคม 2567 นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival อยู่ในรายการบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) 
และในโอกาสที่ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประกาศให้ “ประเพณีกำฟ้าโทยพวน จังหวัดแพร่” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566
                เพื่อเป็นการส่งเสริมและแสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ จังหวัดแพร่จึงขอความร่วมมือทุกส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชนรณรงค์สืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ตามแนวคิด "นุ่งผ้าเมือง อู้กำเมือง ดำหัวแบบคนเมือง"  โดยขอความร่วมมือ  ดังนี้
                1) รณรงค์แต่งภายด้วยผ้าหม้อห้อม ผ้าทอพื้นเมืองแพร่ ผ้าลายอัตลักษณ์ของจังหวัดแพร่ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือน เมษายน 2567  
                2) ประชาสัมพันธ์รณรงค์ "นุ่งผ้าเมือง อู้กำเมือง ดำหัวแบบคนเมือง" ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
                3) ดำหัวแบบคนเมือง หมายถึง การดำหัวญาติผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหรือพระสงฆ์แบบประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา คือ การนำขันน้ำ หรือสลุงใส่น้ำสะอาด ผสมผงขมิ้น ฝักส้มป่อยเผาไฟ ลอยด้วยดอกสารภีแห้ง ดอกมะลิสด มะกรูดฝานเป็นแว่นบางๆ พร้อมด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องอุปโภคบริโภค จัดใส่พานหรือภาชนะให้เรียบร้อย นำไปวางตรงหน้าผู้ใหญ่ด้วยกิริยาที่สุภาพ นอบน้อม แล้วกล่าวคำขอมาและขอรับพรปี๋ใหม่ (ปอนปี๋ใหม่) พร้อมยกมือขึ้นประนมระหว่างอก และกล่าวคำว่า "สาธุ"ให้พร(ปั๋นปอน) เสร็จ หลังจากนั้น ผู้ใหญ่จะใช้มือแตะน้ำขมิ้นส้มปอย ลูบศีรษะตัวเอง เป็นอันเสร็จพิธี (การนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปรดที่มือของผู้ใหญ่ เป็นวิธีการที่ไม่นิยมกระทำในประเพณีล้านนา)

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่/รายงาน
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar