7-12 กุมภาพันธ์ นี้ พบกับงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ณ สนามกีฬากลาง เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่

               สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รับแจ้งจากนายวชิรพงษ์ โกสิน นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งโฮ้ง ว่า ทางเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง ร่วมกับประชาชนชาวตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ กำหนดจัดงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ประจำปี 2567 เพื่อสืบสานประเพณี อนุรักษ์วัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ และในปีงบประมาณ 2567 นี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม ในคัดเลือกให้งานประเพณีกำฟ้าไทยพวนเป็นเทศกาล/ประเพณี เพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติ และนานาชาติหนึ่งใน 6 เทศกาล/ประเพณี ของไทย
               ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม การประกวดเทพีกำฟ้า การแสดงศิลปะวัดวัฒนธรรม ซุ้มนิทรรศการ การแสดงบนเวที ขบวนแห่การจำลองวิถีชีวิตพี่น้องชาวไทยพวน และมหรสพต่างๆ โดยงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน กำหนดจัดขึ้น ในวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สนามกีฬากลาง เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่
               จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว ประชาชนที่สนใจ ได้มาเที่ยวชมงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ประจำปี 2567 โดยมีพิธีเปิดงาน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.30 น. โดยทางนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จะได้กล่าวต้อนรับ ฯพณฯ คำพัน อั่นลาวัน เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย  และนางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าว โดยจะมีการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม การแสดงแฟชั่นโชว์ ชุดผ้าหม้อห้อม MORHOM IN MY STYLE 
               และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีขบวนแห่ จากชุมชนไทยพวน ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยมีขบวนแสดงวัฒนธรรมบวชนาค , ขบวนแสดงวัฒนธรรมกิ๋นสลาก , ขบวนแสดงวัฒนธรรมตลาดสด(กาดมั่ว) , ขบวนแสดงวัฒนธรรมหัตถกรรมหม้อห้อม , ขบวนแสดงวัฒนธรรมวิถีชีวิตการทำมาหากินและอาชีพดั้งเดิมของชาวไทยพวน , ขบวนแสดงวัฒนธรรมวิถีชีวิตกลางทุ่งนา , ขบวนแสดงวัฒนธรรมไทยพวนร่วมสมัย 4 ภาค , ขบวนแสดงวัฒนธรรมพิธีกรรมและความเชื่อ , ขบวนแสดงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขบวนแสดงชมรมผู้สูงอายุ
               ทั้งนี้งานประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวนที่อาศัยกระจายไปอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี อุดรธานี หนองคาย แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิจิตร เป็นต้น แม้การรวมตัวในแต่ละถิ่นจะไม่มากนัก แต่ทุกแห่งต่างก็สามารถรักษาวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี ซึ่ง
กำ หมายถึง การสักการบูชา (ภาษาพวน) และกำฟ้า หมายถึง การสักการบูชาฟ้า

ฉัตรชัย พวงขจร / ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

 


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar