ผ้าจกเมืองลอง

"ผ้าจกเมืองลอง"

                 เมืองลอง เป็นชุมชนโบราณ เป็นอำเภอหนึ่งใน จังหวัดแพร่ เมืองลองในอดีตเป็นเมืองของชาวไทยยวน หรือชาวไทยโยนก เนื่องจาก เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญเมืองหนึ่งทางทิศใต้ของอาณาจักรล้านนาชาวไทยยวนเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งด้านการแต่งกายเป็นแบบเดียวกับชาวไทยวน หรือชาวโยนกเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนาโดย ทั่วไป ไทยยวนมีเทคนิคและศิลปะในการทอผ้าในรูปแบบของตนเอง ผู้หญิงไทยวน นิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่นทอชนิดต่างๆ และผ้าชิ้นตีนจก เป็นผ้าซิ่นที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ โดยวัสดุที่ใช้ในการทอมีทั้งที่เป็นฝ้าย ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ทอเป็นผ้าลวดลายสวยงาม จึงทำให้ผ้าทอ จังหวัดแพร่มีชื่อเสียงสืบทอดต่อกันมาจนซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นั่นคือ ผ้าตีนจก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ นั่นเอง โดยเฉพาะบ้านของนางประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์แห่งการทอผ้าจก บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
                   “ผ้าจกเมืองลอง” ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดแพร่ เป็นผ้าทอที่ความโดดเด่นด้วยลวดลายและสีสันที่ละเอียด งดงาม มีความแข็งแรงทนทาน เพราะใช้เส้นไหมที่มีเส้นเล็ก สร้างลวดลายโดยการจกทำให้ลายที่ได้มีความสลับซับซ้อนมาก ในอดีตเป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุง หรือภาษาเหนือ เรียกว่าซิ่น ซึ่งประกอบด้วย หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น โดยใช้ทำเป็นเชิงของผ้าถุง หรือตีนซิ่น ผ้าซิ่นที่ต่อเชิงด้วยผ้าทอตีนจกนี้จะเรียกว่า “ซิ่นตีนจก” ลวดลาย และความละเอียดอ่อนบนผ้าทอนั้น จะเป็นสิ่งที่แสดงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้ที่นำไปสวมใส่ ช่างผู้ทอต้องมีใจรักและความอดทนในการทอผ้า เพื่อให้ได้ผ้าทอที่มีความประณีตสวยงาม ใช้สีตัดกันในกลุ่มสีแบบโบราณเอกลักษณ์ดั้งเดิม และจะจบลายด้วยหางสะเปา ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบเส้นสี และจำนิยมจกลวดลายเฉพาะส่วนครึ่งบนของตีนซิ่น โดยเว้นพื้นสีแดง ส่วนล่างไว้
                   การทอผ้าจกเป็นการทอผ้า ที่ผู้ทอต้องใช้วิธีล้วงดึงเส้นด้ายพุ่งพิเศษขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลาย คล้ายการปักผ้า ปกติใช้ไม้แหลมหรือขนเม่นจกเส้นด้ายเส้นยืนยกขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายพุงพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า สลับสีตามต้องการจนเกิดเป็นลวดลาย อีกทั้งการใช้เส้นยืนทำด้วยไหมควบหก ซึ่งมีความเหนียวและแข็งแรง เส้นพุ่งใช้เส้นไหมน้อยซึ่งมีเส้นที่เล็กและละเอียด ด้วยลักษณะไหมมีเส้นเล็ก และพืมที่มีความถี่ จึงทำให้เกิดเป็นลวดลายที่ซับซ้อน ละเอียด หลากสีสัน และประณีตงดงาม
                   ในขณะเดียวกันผู้ทอผ้าต้องเป็นคนช่างสังเกต โดยเฉพาะในส่วนลวดลายที่ละเอียด การทอผ้าจกจึงถือเป็นประกาศนียบัตรรับรองความเป็นผู้ใหญ่ของสตรีในสมัยโบราณ เพราะเมื่อเริ่มเป็นสาวก็จะต้องถูกส่งไปฝึกการทอผ้ากับช่างทอประจำหมู่บ้าน เตรียมตัวไว้สำหรับการออกเรือน ซึ่งหญิงสาวทุกคนต้องทอผ้าใช้เองให้เป็นก่อนจะออกเรือน ทั้งผ้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งผ้าผืนพิเศษที่จะใช้นุ่งในวันสำคัญของชีวิต
เดิมทีนั้นการทอผ้าจกนิยมทอกันเพียงไม่กี่ลาย ในผ้าจกหนึ่งผืนนั้นจะมีลายอย่างมากไม่เกิน 4 ลาย ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน ว่าลายไหนเป็นลายหลัก ลายไหนเป็นลายประกอบ แล้วจึงนำไปประกอบให้เข้ากับตัวซิ่น และหัวซิ่น โดยที่หัวซิ่น จะใช้ผ้าขาวผ้าแดงต่อกัน ส่วนตัวซิ่น จะเป็นการสร้างลายโดยเส้นยืน ทำให้เกิดลายทางขวาง จนมาถึงตีนซิ่นหรือตีนจก ถึงจะเป็นการทอโดยเทคนิคจก ที่ถูกกำหนดโดยเส้นยืนดำและแดง ส่วนลายดอกถ้าเป็นกลุ่มสีแบบโบราณ จะนิยมทอให้มีสีตัดกันตามเอกลักษณ์ดั้งเดิมผ้าตีนจกไทยวนเมืองลอง นิยมใช้เส้นใยฝ้ายและไหมสีหลืองเป็นสีหลักในการตกตกแต่งลวดลายจะต้องเว้นจังหวะลวดลายไม่ให้ถี่แน่นจนเกินไป และนิยมจกลวดลายเฉพาะส่วนครึ่งบนของตีนซิ่นโดยเว้นพื้นสีแดงที่สำคัญ คือเมื่อนำผ้าตีนจกไปเย็บต่อกับส่วนหัวซิ่น และส่วนตีนซิ่น เชิงพื้นสีแดงของผ้าตีนจก จะต้องสัมพันธ์กับสีแดงของหัวซิ่น จึงจะนับได้ว่าเป็นซิ่นตีนจกที่สวยงามครบองค์ประกอบที่ถูกต้องตามแบบแผนโบราณ
                    ทั้งนี้เป็นที่กล่าวขานกันมานานในเรื่องความยากของการทอผ้าจกเมืองลอง เพราะต้องอาศัยความใจเย็นมีสมาธิ มีความอดทน ความละเอียดอ่อนประณีต กว่าจะผูกลายให้สวยงามได้แต่ละผืน ผู้ทอต้องผ่านการฝึกฝนอย่างมาก จึงจะทอสำเร็จเป็นผ้าตีนจกที่งดงาม
                    ปัจจุบันที่บ้านนางประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ นอกจากเป็นแหล่งผลิตผ้าจกเมืองลองแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งมีการส่งเสริมให้ประชาชน และเยาวชน ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงวิธีการต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการปั่นฝ้าย สร้างเส้นฝ้าย ย้อมสี และทอผ้า และเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย 

PR สำนักงานประชาสัมพันธ์จังวัดแพร่


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar